เตือน3ปัจจัยเสี่ยงทุบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

หอการค้าประเมิน 3 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง "เศรษฐกิจโลก-น้ำมัน-การเมือง" คาดปีนี้ โต 4-5% แนะรัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยเสี่ยงแรก เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และเป็นปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นเพราะมีผลกระทบในวงกว้างโดยเศรษฐกิจจีนและสหภาพยุโรป (อียู) ที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกทันทีเพราะไทยส่งออกไปทั้งสองตลาด มีสัดส่วนรวมกันถึง 21.5% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่เคยขยายตัว 9-10% กลับมาขยายตัว 7% จะทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลงมาก ในขณะที่เศรษฐกิจอียู ยังไม่ฟื้น ก็มีผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง
"การส่งออกไทยที่ชะลอ จะมีผลต่อการใช้กำลังการผลิต จากที่เคยใช้ 70% ลดลงมาเหลือ 50% จะส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น"
ปัจจัยเสี่ยงที่สอง คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่บาร์เรลละ 103 ดอลลาร์ สูงขึ้นมาจากก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ที่มีราคาบาร์เรลละ 95 ดอลลาร์ และถ้าราคาน้ำมันทรงตัวระดับปัจจุบันหรือสูงกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันมีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติและจะส่งผลต่อเนื่องถึงค่าไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย เช่น ปรับการผลิตไปในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย แต่แนวทางนี้เหมาะกับผู้ประกอบการที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 50%
ปัจจัยเสี่ยงที่สาม คือ สถานการณ์การเมืองที่ภาคเอกชนต้องการให้นิ่งมากกว่านี้ โดยเท่าที่สอบถามนักธุรกิจเกี่ยวกับข่าวการเมืองในขณะนี้ ภาคเอกชนกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องการให้นิ่งเหมือน 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้นและส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน
คาดจีดีพีโต 4-5% จี้เร่งลงทุนภาครัฐ
นายอิสระ กล่าวว่า หอการค้าไทย คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัว 4-5% แต่คงต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัว และการส่งออกที่ชะลอตัวอาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าภายในประเทศด้วย เพราะรายได้ลดลง ทำให้คนประหยัดเงิน
ภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งลงทุนภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท
"ถ้ารัฐบาลเห็นว่าการลงทุนส่วนใด ทำได้ก่อนก็ลงทุนเลย จะช่วยสร้างงานและสร้างความต้องการสินค้าในประเทศ ซึ่งการลงทุนบริหารจัดการน้ำอาจดำเนินการได้ก่อน เพราะใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร"
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถลงทุนบริหารจัดการน้ำและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คงต้องเตรียมแนวทางอื่นไว้พยุงเศรษฐกิจ และเห็นว่ารัฐบาลควรส่งเสริมการค้าชายแดนมากขึ้น เพราะว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ทันที โดยรัฐบาลจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านด่านชายแดน และอาจต้องเปิดด่านบางแห่งตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดพรมแดนการค้า
สศช.เผยเวิร์คชอปหาทางดันส่งออก
ภาวะเศรษฐกิจชะลอเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น โดยรัฐบาลจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. นี้ โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เวิร์คชอปครั้งนี้จะเน้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของแพง เพราะราคาสินค้าก็มีผลต่อการบริโภคของประชาชน และการหามาตรการเพื่อเร่งการส่งออก
"นายกรัฐมนตรีได้มีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิตของวัตถุดิบ ทั้งในส่วนของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ หรือสินค้าสำเร็จรูป ให้มารายงานเพื่อประกอบการประชุมปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการประชุมที่ต่อเนื่องจากการจัดเวิร์คชอปเรื่องการส่งออกภาคเกษตรและอาหารเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา"นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานรัฐบาลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การบริโภคของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 3.9% ซึ่งต่ำจากเป้าหมายที่มีการประมาณการว่าจะเติบโต 6% และการบริโภคภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน มีการเติบโต 1.8% และหดตัว 0.2% ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง นายอาคม กล่าวว่า คงจะยังไม่ได้มีการหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้วจำนวน 22 มาตรการ ซึ่งครอบคลุมมาตรการการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ การเร่งการส่งออก เป็นต้น
"หากมีการเร่งมาตรการตามที่ได้อนุมัติแล้ว น่าจะมีส่วนช่วยในการเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ได้"
เศรษฐกิจไทยขึ้นกับปัจจัยภายนอก
ด้าน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ อยู่ที่ 4.1% และคงไปไม่ถึง 4.5% แต่ก็ไม่น่าต่ำกว่า 4% และในการพิจารณาลดหรือคงดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไม่ได้มีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกมากกว่า ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญจะมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วนกรณีที่มีคนมองว่า การลดดอกเบี้ยลงจะเกิดฟองสบู่นั้น ไม่น่าเป็นเช่นนั้นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนวิกฤติปี 2540 เพราะว่าแม้หนี้ครัวเรือนจะสูงจริงแต่ไม่มาก ด้านงบดุลบริษัทสัดส่วนหนี้ต่อทุนหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนสูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของการขยายตัวเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับตัวเลขการส่งออกมากกว่า เพียงแต่มองว่าขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมียอดส่งออกสูง แต่กลับมีส่วนสัมพันธ์กับการจ้างงานไม่ถึง 2% จึงอยากให้ความสำคัญกับการส่งออกในภาคการเกษตร ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการจ้างงานที่สูงมาก นอกจากนี้ต้องถือว่าโชคดีที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงมากและมีความยืดหยุ่นสูง
'โฆสิต'ชี้ ต้องตอบกระตุ้นไม่ได้ผล
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขยายตัวเศรษฐกิจที่ระดับ 4% ถือเป็นระดับที่ขยายตัวได้พอสมควรแล้ว หากต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ใช้เงินควรทำการศึกษาและทบทวนว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าระบบเศรษฐกิจ เหตุใดจึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจตามที่เคยคาดหมายไว้ ส่วนโครงการลงทุนภาครัฐถือเป็นโครงการระยะยาวที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนักว่า จะใช้เงินจำนวนเท่าไรตลอดระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า
"ที่ผ่านมากระตุ้นเยอะ แต่ได้ไม่เยอะ ถ้าจะกระตุ้นเยอะๆ ได้ผลแบบนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะก่อนจะใช้นโยบายนี้ก็พูดกันว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจสูง แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ก็โตแค่ 4% อยู่ดี ถ้าจะใช้วิธีเก่าก็ต้องคิด และถามตัวเอง เพื่อปรับแก้ให้ดีขึ้น"
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนนั้น ถือเป็นประเด็นที่ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการใช้เงินเกินพอดี เช่นเดียวกับภาครัฐที่มีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาเศรษฐกิจจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
ระบุดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบเสมอไป
นายโฆสิต ยังกล่าวอีกว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมามีตัวอย่างจากหลายประเทศแล้วว่าแม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 0% ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในหลักการเป็นดอกเบี้ยที่สะท้อนสถานการณ์ภายในประเทศ ขณะเดียวกันต้องติดตามความผันผวนว่าจะเป็นอย่างไร
ในส่วนของดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย และทำให้ต้นทุนการเงินลดลง แต่ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคาร คือ ความผันผวนที่ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการแข่งขันเงินฝากที่ยังรุนแรงอยู่ การส่งผ่านนโยบายการเงินของธปท. ต้องขึ้นอยู่กับความคาดหวังเป็นหลัก
"ความผันผวน คือ ความไม่แน่นอน หากมีสูงก็เหมือนเราเดินไปหาสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้น การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย ก็ควรหยุดสักนิดก่อนดีกว่า ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ในขณะนี้ถือเป็นประเด็นที่ภาคเอกชน จะต้องตระหนักและเตรียมตัวรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้ดี"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ย้อนรอย หุ้นแรงไปแรง บริษัท.แคลิฟอร์เนีย ว้าว (Cawow) บทเรียนแสนแพงของคนไทย

มวยวัดในตลาดหุ้น

Golden Cross